ปีบจัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณประเทศพม่าและไทย โดยมักจะพบขึ้นกระจัดกระจายทั่ว ๆ ไป ตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงปัจจุบันสามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และอินเดีย เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย ปีบเป็นต้นไม้มีดอกหอมของไทยที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานว่าวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายเรื่องได้บรรยายถึงปีบในตอนชมดง เช่น ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ และเรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบต้นปีบได้หลายภาค เช่นใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณปีบ
มีการนำส่วนต่างๆของปีบมาใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น นำมาเป็นชาไว้ชงดื่มเหมือนชาหรือชาเขียวก็ได้ โดยนำดอกปีบมาตากแห้งแล้ว นำมาชงใส่น้ำร้อนดื่มเป็นชา ซึ่งชาดอกปีบนี้จะมีกลิ่นหอมละมุน รสชาติหวานแบบนุ่มนวลและไม่ขม เปลือกของต้นปีบ สามารถนำมาใช้แทนไม้ก๊อกสำหรับทำจุกขวดได้ เนื้อไม้ของปีบเป็นไม้เนื้ออ่อนโดยเนื้อไม้จะมีสีขาวอ่อน ซึ่งจะสามารถเลื่อยและตบแต่งขึ้นเงาได้ง่าย จึงนิยมแก่การนำมาทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ในครัวเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารบ้านเรือน
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำปีบมาปลูกตามอาคารบ้านเรือน ตามสถานที่ราชการและสวนหย่อม สวนสาธารณต่างๆ เพราะมีร่มเงา ร่มรื่นรูปทรงต้นงดงาม ปลูกง่าย ทนทานต่อความแห้งแล้งให้ดอกสม่ำเสมอ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ขยายพันธุ์และดูแลรักษาได้ง่าย สรรพคุณทางยาของปีบนั้นตามตำรายาไทยระบุถึงสรรพคุณว่า ดอก รสหวานขมหอม ช่วยขยายหลอดลม รักษาหืด บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดี เพิ่มการหลั่งน้ำดี สูบแก้ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ แก้ลม ดอกใส่ปนกับยาไทย มวนสูบทำให้ปากหอม ราก รสเฝื่อน บำรุงปอด แก้วัณโรคและโรคปอดพิการ แก้หอบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ เปลือก แก้ไอ ขับเสมหะ ใบ ใช้มวนบุหรี่สูบแทนฝิ่น ขยายหลอดลม ใช้รักษาอาการหอบหืด
ส่วนในต่างประเทศ อินเดีย พม่า และจีนใช้ใบและราก ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้หืด ใบ เป็นยาบำรุง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้ไซนัสอักเสบ แก้ไข้ เพิ่มการหลั่งน้ำดี เป็นยาบำรุง ลำต้น บำรุงปอด และแก้ไอ เปลือกต้น ใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง ดอก เป็นยาบำรุง ใช้รักษาหืด เพิ่มการหลั่งน้ำดี ไซนัสอักเสบ ใช้ใส่ในยาสูบเพื่อรักษาโรคที่ลำคอ เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปปีบ
ปีบจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แบบผลัดใบ ลำต้นตรง สูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ มีช่องอากาศเรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน มีใบย่อย 4-6 คู่ เป็นรูปไข่ปลายแหลมกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักหรือเว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางเรียบ เห็นเส้นกลางใบและต่อมขนได้ชัด ดอก ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณ ตามปลายกิ่งโตมีดอกย่อยจำนวนมาก
ซึ่งดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบรองกลีบดอกมีขนาดเล็กมาก มีโคนเชื่อมติดกันยาว 2-5 มม. ปลายแยกเป็นกลีบกลม ๆ 5 กลีบ ขอบม้วนออก กลีบดอกยาวประมาณ 4.5-7 ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อเล็กยาวแบบปากแตร ท่อมีขนาดกว้างประมาณ 2 มม. ยาว 6-8 ซม. ปลายท่อบานออก แยกออกเป็น 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ผลดอก เป็นฝัก แบน ยาวรูปขอบขนานหัวแหลมท้ายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.3 เซนติเมตร ยาว 25-30 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวพอแห้งจะแข็งและแตกออก เมล็ดแบนสีขาว มีรูปหยดน้ำจำนวนมาก เมล็ดมีปีกสีขาวบาง ๆ ทำให้สามารถปลิวไปตามลมได้ไกล ๆ
การขยายพันธุ์ปีบ
ปีบสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ด หรือการนำรากรอบๆต้นปีบมาเพาะเป็นต้น โดยมีวิธีการ คือ ตัดรากบริเวณรอบๆ ต้น เป็นท่อนๆ ขนาด 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไปปักชำในกระบะที่ผสมด้วยดินร่วน ปุ๋ยคอกและขี้เถ้าแกลบแล้วรดน้ำให้ชุ่มจากนั้นรอให้รากที่เพาะนั้นแทงยอดขึ้นมาพบประมาณจึงสามารถนำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการได้ ทั้งนี้ปีบเป็นไม้ที่ทนความแห้งแล้งได้ดี แต่ก็ค่อนข้างชอบอากาศชุ่มชื้น และสามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดินแต่จะชอบดินร่วนปนทรายมากกว่าชนิดอื่น ดังนั้นในการเลือกพื้นที่ปลูกไม้ปีบจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้รักษาอาการหืดหอบ และขยายหลอดลม โดยนำดอกแห้ง 5-7 ดอก ผสมกับยาสูบเล็กน้อยมวนเป็นบุหรี่สูบ หรือจะใช้ใบมวนบุหรี่สูบก็ได้ ใช้ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ใช้แก้ลม โดยนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่มหรือจะใช้ชงเป็นชาก็ได้ ใช้แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอขับเสมหะ โดยใช้เปลือกรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์บรรเทาอาการโรคหอบหืด มีการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณแบบกึ่งทดลอง (quasi – experimental research) ของตำรับยาดอกปีบโดยทำการพ่นสารสกัดน้ำจากดอกปีบด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน ในอาสาสมัครชายหญิงที่เป็นโรคหอบหืด จำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี โดยพ่นยา ขนาด 3 มล. จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 นาที โดยทำการนัดจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน วัดค่า PEFR ก่อนและหลังการให้ตำรับยาดอกปีบ ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครมีค่า PEFR เฉลี่ยก่อนและหลังได้รับตำรับยาพ่นดอกปีบ เท่ากับ 38.72% และ 68.53% ตามลำดับ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ย 0.55 จากผลการศึกษาวิจัยแสดงว่าตำรับยาพ่นดอกปีบมีประสิทธิผลในการรักษาโรคหอบหืดได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอีกหลายฉบับเช่น สารสกัดเมทานอลจากดอกมีฤทธิ์ขยายหลอดลมในหนูทดลอง สารสกัดเอทานอลจากดอกมีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษในหนูทดลอง สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในหลอดทดลอง สารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ขับพยาธิ สาร hispidulin จากดอก มีฤทธิ์ต้านการชัก ทำให้สงบระงับในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีอาการลมชักได้สารสกัดใบด้วยอะซิโทนมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ไม่ควรสูดดมกลิ่นของดอกปีบมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวได้
ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ไม่ควรใช้ดอกปีบเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบได้
ในการใช้ส่วนต่างๆ ของปีบเป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช่เช่นเดียวกับกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ปีบเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
ต้นปีบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นตรง มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาเข้มแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศ รากเกิดเป็นหน่อ เจริญเป็นต้นใหม่ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะ หรือใช้ต้นอ่อนที่เกิดจากรากรอบ ๆ ของต้นแม่ นำมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ แล้วนำมาปักชำในกระบะกรวยที่ผสมด้วยขี้เถ้าแกลบก็ได้ ปีบเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของพม่าและไทยที่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต้นปีป
ใบปีบ ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น มีความกว้างประมาณ 13-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-26 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3.5-6 เซนติเมตร ที่ตัวใบจะประกอบไปด้วยแกนกลางยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร มีใบย่อย 4-6 คู่ กว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ลักษณะใบมีรูปร่างคล้ายรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบหยักเป็นซี่หยาบ ๆ เนื้อใบเกลี้ยงบางคล้ายกับกระดาษ
ดอกปีบ ลักษณะดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง มีความยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยจะประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกมีกลิ่นหอม มีความกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เชื่อมกันเป็นหลอดปากแตร แยกออกเป็น 5 แฉก 3 แฉกรูปขอบขนาน 2 แฉกล่างค่อนข้างแหลม มีเกสรตัวผู้จำนวน 4 ก้าน สองคู่จะยาวไม่เท่ากัน และมีเกสรตัวเมียจำนวน 1 ก้าน อยู่เหนือวงกลีบ โดยดอกปีบจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม
ผลปีบ ลักษณะเป็นผลแห้งแตก ผลแบนยาว ขอบขนาน มีเนื้อและเมล็ดจำนวนมาก เป็นแผ่นบางมีปีก