ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีลูกหรือไม่ในอนาคต หรือผู้ที่ยังต้องการมีลูกอีกในอนาคต (สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยหรือลูกยังไม่โตควรคิดให้ดีก่อนทำหมัน)
ผู้ที่อายุยังน้อยและยังไม่มีลูกหรือมีลูกเพียง 1 คน ถ้าไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงจริง ๆ แพทย์มักจะไม่ยอมทำหมันให้ครับ เนื่องจากอายุยังน้อย ยังมีโอกาสเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตได้อีกมาก เพราะอนาคตไม่มีความแน่นอน เพราะลูกอาจป่วย
มีพัฒนาการไม่ดี ลูกหรือสามีอาจเสียชีวิต อาจเกิดการหย่าร้าง แต่งงานมีครอบครัวใหม่ (สามีใหม่ต้องการมีลูกไว้สืบสกุล) ฯลฯ ในภายหลังเมื่อทำหมันไปแล้วเกิดอยากมีลูกใหม่ การผ่าตัดแก้หมันจะทำได้ยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และโอกาสสำเร็จก็ไม่มาก เพราะเทียบกันแล้ว ยังมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำหมัน (หรือมากกว่า) อีกหลายวิธี เช่น การใช้ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด ฯลฯ ที่สามารถคุมกำเนิดได้ยาวนานกว่าปกติอะไรแบบนั้นจะดีกว่า แล้วรอให้คุณแม่อายุมากขึ้นหน่อยและมั่นใจจริง ๆ ว่าไม่ต้องการที่จะมีลูก แล้วจึงค่อยมาทำหมันก็ยังไม่สายครับ (ในกรณีที่ผู้ป่วยยืนยันจะทำหมัน แพทย์ก็คงต้องดูเป็นราย ๆ ไปครับ แต่โดยส่วนมากแล้วจะแนะนำทางเลือกอื่น ๆ ตามที่บอกมาแล้วมากกว่า)
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด
ผู้ที่มีภาวะการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง หรือเป็นวัณโรคช่องท้อง
มีภาวะไส้เลื่อนที่หน้าท้องหรือกะบังลม
มีการติดเชื้อที่ผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่จะผ่าตัด หรือมีพังผืดในช่องท้องมาก
ผู้ที่เคยผ่าตัดในช่องท้องมาแล้วหลายครั้ง หรือมีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ในท้อง
ข้อจำกัดในการทำหมันหญิง
ต้องเข้ารับการผ่าตัดในห้องผ่าตัด และทำการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้มีความรู้และความชำนาญในการผ่าตัดทำหมัน
ต้องใช้ยาระงับปวดและยาดมสลบในระหว่างการผ่าตัด
ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
ในบางรายที่เคยผ่าตัดในช่องท้องมาก่อนอาจจะมีพังผืดมาก หรือรายที่มีก้อนเนื้องอกบริเวณท่อนำไข่ซึ่งพบโดยบังเอิญ หรือท่อนำไข่มีหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่อยู่ใกล้ ๆ การผ่าตัดทำหมันอาจเสี่ยงต่อการเสียเลือดมากได้ ในกรณีเหล่านี้แพทย์อาจยุติการผ่าตัดทำหมันเพื่อความปลอดภัยก็เป็นได้
ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะต้องไม่มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนและงดยาก่อนทำการผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง
ผู้ที่มีการเสียเลือดมากจากการคลอดจนความดันโลหิตต่ำ (ควรแก้ไขให้สัญญาณชีพคงตัวและร่างกายพร้อมรับการผ่าตัดก่อน)
หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
เนื่องจากวิธีนี้เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร หากต้องการกลับมาตั้งครรภ์หรือมีลูกอีกจะต้องมาผ่าตัดแก้ไข ซึ่งอัตราการประสบความสำเร็จจากการแก้หมันจะต่ำและมีค่าใช้จ่ายสูง
การเตรียมตัวก่อนการทำหมันหญิง
ควรเตรียมประวัติโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ยาที่รับประทานอยู่ รวมทั้งยาที่ซื้อมารับประทานเอง หากรับประทานยา aspirin, ibuprofen ควรจะหยุดรับประทานยาก่อนทำหมันประมาณ 7 วัน แต่หากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด warfarin ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนการหยุดยา
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดทำหมันหญิงควรถอดฟันปลอมและคอนแทคเลนส์ออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด
ควรปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะแฟบก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการเกิดการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ
การผ่าตัดในบางครั้งจำเป็นต้องใช้ยาดมสลบหรือยาฉีดให้สลบ ดังนั้น เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารจากกระเพาะอาหารระหว่างที่สลบ จึงควรงดน้ำ งดอาหารก่อนทำหมันอย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง
การดูแลตัวเองหลังการทำหมันหญิง
ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันหญิงจะสามารถกลับบ้านได้เลยหลังจากตื่นจากยาสลบ แต่บางรายอาจจะต้องนอนโรงพยาบาลอีก 1 คืน
หลังผ่าตัดทำหมันหญิงควรนอนพักเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในบางครั้งยังอาจมีอาการมึนงงจากยาชาและยาสลบ จึงควรมีญาติพากลับบ้าน ไม่ควรเดิน ขับรถ หรือกลับบ้านเพียงลำพัง จากนั้นจึงสังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีอาการปวดแผลผ่าตัดมากหรือมีเลือดออกบริเวณผ่าตัด ให้รีบกลับไปโรงพยาบาล
หลังการผ่าตัดแผลจะหายเป็นปกติภายใน 4-5 วัน ในระหว่างนี้ควรระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำ ไม่ควรอาบน้ำร้อน หรือว่ายน้ำจนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผล หรือประมาณ 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
ควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน เช่น การยกของหนัก การเดินนาน ๆ การเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมาก ๆ หรือการทำงานหนักหลังการผ่าตัดทำหมันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายสนิทดีแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตกเลือดหรืออาการปวดแผลหลังการผ่าตัด (หากเย็บแผลด้วยไหมละลาย หลังเปิดแผลถ้าแผลหายดีก็สามารถอาบน้ำได้เลย แต่ถ้าเป็นการเย็บแผลด้วยไหมธรรมดา ต้องไปตัดไหมก่อนเมื่อครบ 7 วัน แล้วจึงจะอาบน้ำได้)
สำหรับการทำหมันแห้งควรงดมีเพศสัมพันธ์หลังการทำหมันอย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่าจะไม่เจ็บแผลผ่าตัด ส่วนการทำหมันเปียก สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากคลอดบุตรแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์
หากมีอาการปวดแผลผ่าตัดให้รีบประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (แต่ส่วนมากจะมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย และไม่จำเป็นต้องใช้ยาครับ) แต่หากมีอาการปวดมากก็ควรรีบไปพบแพทย์ครับ และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เช่น มีอาการปวดท้องมาก ทานยาแก้ปวดแล้วยังไม่หายปวด, มีน้ำหรือเลือดออกจากแผลผ่าตัด, มีอาการตกเลือดมาก, หายใจหอบ หน้ามืด, มีไข้มากกว่า 100.5 °F หรือหนาวสั่น, คลื่นไส้อาเจียน
ในระยะยาวอาจมีอาการปวดแปลบ ๆ บริเวณท้องน้อยทั้งสองข้างเล็กน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากพังผืดจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ตามปกติ แต่หากมีอาการปวดท้องน้อยมาก ควรรีบไปพบแพทย์
ในกรณีที่ประจำเดือนขาดหลังทำหมันควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ เพราะการทำหมันหญิงไม่สามารถคุมกำเนิดได้เต็ม 100% หากพบมีการตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
เมื่อครบกำหนดเวลานัด หรือครบกำหนด 1 เดือนหลังการผ่าตัดทำ หรือมีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอีกครั้ง และควรมาตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง
ผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิง
อันตรายจากการผ่าตัดทำหมันหญิงมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยมาก ส่วนอาการแทรกซ้อนอาจพบได้บ้างแต่ก็มีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย หรือพบได้น้อยกว่า 1% (การทำหมันหญิงอันตรายน้อยกว่าการคลอดลูกและการทำแท้งหลายสิบเท่า และมีเพียง 1-2 คนใน 100,000 คน เท่านั้นที่เสียชีวิตจากการทำหมัน) เพราะโดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดทำหมันเป็นหัตถการที่สามารถทำได้โดยง่าย ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจะใช้เวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 15-30 นาที จึงจัดเป็นหัตถการที่พบภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก ซึ่งภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่มักมาจากการดมยาสลบ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนด้วยการเปลี่ยนมาใช้ยาชาเฉพาะที่พร้อมกับงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนส่วนนี้ได้ โดยผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดทำหมันหญิงมีดังนี้
อวัยวะข้างเคียงภายในอาจได้รับบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้
อาจเกิดภาวะเสียเลือด ในระหว่างการผ่าตัดอาจมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณท่อนำไข่ได้ หรือไหมที่ผูกบริเวณท่อนำไข่ที่เป็นตัวช่วยห้ามเลือดจากแผลผ่าตัดท่อนำไข่หลุด ทำให้มีเลือดออกในช่องท้องได้
การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดทำหมัน เป็นต้น
หลังการทำหมันอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ได้ประมาณ 2-4 วัน ได้แก่ เจ็บไหล่ แสบคอ ท้องใหญ่และเกร็งหน้าท้อง อาจมีเลือดออกทางช่องคลอด และมีตกขาว
ในบางรายอาจพบว่ามีอาการปวดท้องน้อย ส่วนมากแล้วจะเป็นอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือปวดพอรำคาญ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีพังผืดบริเวณที่ตัดผูกท่อนำไข่ แต่ไม่พบว่าเป็นอันตรายแต่อย่างใด
ในบางรายอาจพบว่ามีอาการแพ้ยาชาหรือยาดมสลบ หรือมีปัญหาต่อระบบไหลเวียนเลือดและการหายใจในกรณีที่ได้รับการดมยาสลบ
การตั้งครรภ์นอกมดลูก แม้ว่าการทำหมันจะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง แต่ก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูง
ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น การแพ้ยา การติดเชื้อ ปอดบวม โรคแทรกซ้อนทางหัวใจ เป็นต้น
ข้อดีของการทำหมันหญิง
การทำหมันหญิงเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการวางแผนครอบครัว
เป็นวิธีที่ประหยัด สะดวก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการคุมกำเนิด ไม่ต้องกลัวลืมรับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด และไม่ต้องเสียเวลาในการเข้ารับบริการการคุมกำเนิด
เนื่องจากไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน จึงช่วยลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนได้
ไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการมีเพศสัมพันธ์
ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
ข้อเสียของการทำหมันหญิง
ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ทำหมันหญิงแล้วเขาลือกันว่า… ?
ทำหมันแล้วโทรม ทำงานหนักไม่ไหว !! : ไม่จริง เพราะการทำหมันหญิงจะเป็นการผูกท่อนำไข่ ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายแต่อย่างใด ส่วนที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น หลงเชื่อข่าวลือผิด ๆ เกี่ยวกับการทำหมันหรือมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นภาวะทางด้านจิตใจ หรือบางคนอาจมีโรคอยู่ก่อนแล้วหรือเพิ่งเกิดโรคหลังจากที่ทำหมัน ซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา แต่ไม่รู้จะโทษอะไรดี ก็เลยไปโทษว่าสาเหตุเป็นเพราะการทำหมัน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลย หรือในอีกกรณีที่บางคนใช้การทำหมันเป็นข้ออ้างไม่อยากทำงานหนัก แต่ความจริงแล้วไม่เกิน 1 สัปดาห์แผลก็หายสนิทแล้วครับ สามารถทำงานหนักได้ทุกชนิด ไม่ต่างจากช่วงก่อนทำหมันเลย
ทำหมันหญิงแล้วจะอ้วนขึ้นหรือผอมลงหรือไม่ ? : ไม่เกี่ยวครับ เพราะการทำหมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต่อมหรืออวัยวะใด ๆ ที่เกี่ยวกับการกินอาหารและระบบการย่อยอาหารแต่อย่างใด การที่คนเราจะอ้วนหรือผอมนั้นหลัก ๆ แล้วจะขึ้นอยู่กับอาหารการกินหรือเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปของคน ๆ นั้นมากกว่า คนที่อ้วนขึ้นก็อาจเป็นเพราะพันธุกรรมเดิมหรือเกิดความสบายใจทำให้กินดีอยู่ดีจนอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้น ส่วนคนที่ผอมลง ก็อาจเกิดจากการเจ็บป่วยอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัยครับ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหมันอย่างแน่นอน
ทำหมันหญิงแล้วก็ยังตั้งท้องได้ : ได้ครับ แต่โอกาสมีก็น้อยมาก ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ปีกมดลูกที่ตัด ผูก หรือใช้ไฟฟ้าจี้ มาต่อกันเองได้สำหรับบางคน หรือใช้วงแหวนพลาสติกรัด แล้ววงแหวนเกิดหลุดก็ทำให้ตั้งครรภ์ได้ หรืออีกกรณีก็คือคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ แล้ว แต่ยังไม่รู้ตัว คือไข่มีการผสมและผ่านท่อนำไข่มาแล้ว ก่อนที่จะมาทำหมันโดยการผูกท่อนำไข่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าทำหมันแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจริง ๆ ลูกน้อยในครรภ์ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ขอให้สบายใจได้เลยครับ
ทำหมันแล้วจะเป็นโรคประสาท : ไม่เกี่ยวกันครับ เพราะการทำหมันไม่ได้ทำลายระบบประสาทแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ หรือเป็นโรคประสาทได้ ถ้าจะเป็นก็เป็นเองครับ ไม่เกี่ยวกับการทำหมัน อย่างบางคนที่เคยมีอาการดังกล่าว พอทำหมันแล้วอาการหายไปเลยก็มี ซึ่งอาจเพราะไม่ต้องมากังวลเรื่องจะมีลูกนั่นเอง
ทำหมันแล้วจะไม่มีประจำเดือน : ไม่จริง การทำหมันหญิงจะไม่มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะมดลูกและรังไข่ยังคงมีอยู่ตามปกติ จึงไม่มีผลต่อรังไข่และมดลูก ไม่มีผลรบกวนฮอร์โมนเพศในร่างกาย ผู้ที่ทำหมันแล้วยังสามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติเหมือนเดิมจนถึงอายุ 49-50 ปี
ทำหมันแล้วมดลูกจะอักเสบ : ไม่จริง เพราะการทำหมันไม่ได้ไปแตะต้องส่วนของมดลูกเลย
ทำหมันแล้วจะเป็นมะเร็งที่มดลูก : ไม่จริง 100% เพราะในทางกลับกันคนที่มีลูกน้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าคนที่มีลูกมากครับ
ทำหมันแล้วไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่จะไม่มีทางออก จึงตกค้างและเกิดอันตรายได้ : ก็ไม่จริงอีกแหละครับ ถ้าไข่ตกและไม่ได้รับการผสมก็จะฝ่อไปเองตามธรรมชาติ ไม่สะสมไว้ในร่างกาย